Skip to content

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม มุกดาหาร วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ การตัดเย็บย้อม พร้อมกรานผ้ากฐินภายใน 1 ราตรี

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จังหวัดมุกดาหาร
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
การตัดเย็บย้อม พร้อมกรานผ้ากฐินภายใน 1 ราตรี

258234873_4504249246325316_7132342849241842203_n

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จังหวัดมุกดาหาร
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
การตัดเย็บย้อม
พร้อมกรานผ้ากฐินภายใน 1 ราตรี
 
หลังจากพิธีทอดกฐินแล้ว
พระสงฆ์จะนำผ้าขาว
ที่ญาติโยมนำมาทอดถวายนั้น
ไปทำการตัด เย็บ ย้อม
เป็นผ้าไตรจีวรให้เสร็จ
ภายในวันนั้นเลย
เพื่อนำมาประกอยพิธีกรานกฐิน
การทำผ้าจีวรในสมัยโบราณ
ต้องใช้เวลาและความร่วมมือ
ในการทำมาก
การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
กฐินเพื่อให้คณะสงฆ์ทั้งหมด
ที่จำพรรษาในอาวาสเดียวกัน
มาร่วมทำกิจกรรม
เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
ซึ่งทางวัดป่านานาชาติ
ยังคงดำรงพุทธประเพณี
มาจวบจนทุกวันนี้
ในอัลบั้มภาพชุดนี้
พระสงฆ์ท่านจะตัดเป็นสบง (ผ้านุ่ง)
สำหรับพิธีกรานกฐินในตอนกลางคืน
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
โดยพระสงฆ์ได้นำผ้ากฐิน
ที่เจ้าภาพถวายแล้วมาวัดขนาด
เพื่อตัดเย็บผ้าสบง ๗ ขัณฑ์
เมื่อได้ขนาดแล้ว
ท่านจะเย็บผ้าทีละขัณฑ์
ในระหว่างขัณฑ์
มีเส้นคั่นดุจคันนายาว
เรียกว่า กุสิ
แล้วจึงนำมาเข้ามุมทั้ง ๔ ด้าน
เรียกว่า อนุวาต
เมื่อเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ท่านจะนำผ้าไปซัก
เพื่อขจัดรอยต่าง ๆให้สะอาด
จากนั้นย้อมด้วยสีแก่นขนุน
แล้วนำไปย่างด้วยเตาไฟ
เพื่อให้แห้งสนิททันเวลา
เมื่อแห้งแล้ว
ท่านจะนำมาพับให้เรียบร้อย
เพื่อนำมากรานกฐิน

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม) 

ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา Liveสด รับเหรียญอาจาริยคุณลานวัด ลานธรรม ปีที่ ๒ รับเอกสาร 1 ฉบับ ครั้งที่ ๑ จริยวัตรพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตร พระอัครสาวกที่ ๑ ผู้มากมีปัญญา ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา 16.00 -17.00 น. ณ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา Liveสด รับเหรียญอาจาริยคุณ
ลานวัด ลานธรรม ปีที่ ๒ รับเอกสาร 1 ฉบับ
ครั้งที่ ๑ จริยวัตรพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตร
พระอัครสาวกที่ ๑ ผู้มากมีปัญญา
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
เวลา 16.00 -17.00 น.
ณ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา Liveสด รับเหรียญอาจาริยคุณ
ลานวัด ลานธรรม ปีที่ ๒ รับเอกสาร 1 ฉบับ
ครั้งที่ ๑ จริยวัตรพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตร
พระอัครสาวกที่ ๑ ผู้มากมีปัญญา
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
เวลา 16.00 -17.00 น.
ณ สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

อำเภอคำชะอีเป็นดินแดนแห่งเมืองสามธรรม
คือธรรมชาติ
ธรรมะ
และวัฒนธรรม
ปีนี้ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม
ได้จัดทำ โครงการ ๙ ; ๑๐ ปฏิบัติบูชา
“สืบสาน รักษา ต่อยอด
เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม “
ร่วมบูรณาการกับอำเภอคำชะอี
ด้านธรรมะเป็นแหล่งพำนักแห่งพระอริยสงฆ์
นับแต่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
จนลำดับมาถึงหลวงปู่จาม มหาปุญโญ
และคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
ในการนี้
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
กำหนดให้อำเภอทุกอำเภอ เป็นอำเภอคุณธรรม
ขับเคลื่อนการพัฒนาทุกพื้นที่ทุกด้านด้วย พลัง’บวร’

มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรของภาครัฐ ชุมชน
โดยใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมีคุณธรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาโดยยึดหลัก’บวร’ อนุรักษ์สืบสานศาสนธรรม
ประเพณีและวัฒนธรรม ให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองสืบไป
ในการนี้อำเภอคำชะอีโดยนายอำเภอคำชะอี
ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในอำเภอคำชะอี
ได้เข้าร่วมฟังธรรม และเจริญจิตภาวนา
ณ สวนป่าผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม
ตามวันเวลาดังข้างต้น

อะไรล้ำค่าที่สุดในชีวิตคนเรา
เงินทอง ใช่หรือเปล่า?
หากสุขภาพไม่ดี ต่อให้มีเงินทองมากมาย
ก็หมดไปกับการรักษาพยาบาล
ชื่อเสียงลาภยศหรือเปล่า?
หากไร้ซึ่งความจริงใจ
ต่อให้รู้จักกับผู้คนมากมายก็ไม่มีประโยชน์
สิ่งที่ล้ำค่า ไม่ใช่เงินทอง
สิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ชื่อเสียงลาภยศ
แต่เป็นมิตรภาพที่คบหากันด้วยความจริงใจ
ชีวิตคนเราสั้น เงินร้อยล้านพันล้าน
ก็ซื้อเวลาให้อยู่ต่ออย่างมีความสุขแม้เพียงนาทีไม่ได้
รู้ไหม? มิตรภาพ นับค่าไม่ได้
เพราะหากซื้อหามาด้วยเงินได้
มิตรภาพนั้นก็เปื้อนด้วยผลประโยชน์
เพราะซื้อหาไม่ได้ มิตรภาพที่จริงใจจึงนับค่าไม่ได้
เพราะความจริงใจ ใช่ว่าใครๆ ก็มี
เพราะมิตรภาพ ใช่ว่าใครๆ ก็รู้
ไม่เกิดเรื่อง ไม่มีทางรู้หรอกว่าใครคือมิตรแท้
ไม่ตกอับ ไม่มีทางรู้ว่าใครตือมิตรเทียม
น้ำใจ คือ ความเอื้อเฟื้อ
ไมตรี คือ ความหวังดี
สองสิ่งนี้ หากได้รับจากใคร
โปรดถนอมและรักษาไว้ให้ดี
เพราะมิตรภาพนั้น ไม่ได้อยู่ที่ลมปาก
หากแต่ว่า อยู่ที่การกระทำ

 

  • วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม) 

การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก

257148416_4487992374617670_8298332135209625094_n

การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก

 

การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ

กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท

          การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ยาก การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นการยาก การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก”การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นของยาก ต้องอาศัยกำลังความเพียรในการสั่งสมความดีอย่างยิ่งยวด พระพุทธองค์ทรงอุปมาความยากในการเกิดเป็นมนุษย์ไว้ว่า “ในท้องทะเลกว้างใหญ่สุดจะประมาณ มีเต่าตาบอดทั้งสองข้างอยู่ตัวหนึ่ง ทุกๆ หนึ่งร้อยปี จะโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ ๑ ครั้ง และในท้องทะเลนี้มีห่วงที่พอดีกับหัวเต่าลอยอยู่อันหนึ่ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะโผล่หัวขึ้นมา แล้วเอาหัวสอดเข้าไปในห่วงพอดี มีความยากเพียงใด โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น มีความยากยิ่งกว่า”

          เมื่อเกิดมาแล้ว การที่จะรักษาชีวิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางของการสร้างความดีไปได้ตลอดรอดฝั่งก็ทำได้ยาก เพราะภัยและอันตรายต่างๆ ที่เกิดกับชีวิตของเรามีอยู่รอบตัว และการที่จะได้มีโอกาสฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ในโบราณกาลผู้คนต่างแสวงหาความรู้อันแท้จริง และปรารถนาที่จะสนทนากับนักปราชญ์บัณฑิต เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามคำสอนอันประเสริฐ

          พระโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ กว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ต้องสร้างบารมีกันยาวนานหลายอสงไขยกัปทีเดียว ท่านสร้างบารมีทุกรูปแบบ แม้บางชาติจะพลัดไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่ท่านก็ยังคงสร้างบารมี เพื่อมุ่งหวังพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จึงเป็นการยากอย่างนี้

          การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่ได้มายากยิ่งนัก นักสร้างบารมีทุกยุคทุกสมัย ต่างต้องการเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะเป็นภพภูมิอันวิเศษที่เหมาะต่อการสร้างบารมีได้ทุกรูปแบบ ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถือว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต ต้องรีบขวนขวายสร้างบารมีให้ครบทั้ง ๑๐ ทัศ อย่างน้อยที่สุด ก็ควรหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้ได้ทุกๆ วัน เมื่อถึงคราวบุญบารมีเต็มเปี่ยม เราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเราทุกคน

 

  • วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม) 

ประวัติหลวงปู่จาม

ประวัติ หลวงปู่จาม

76361_324645870986012_261435336_n

 

     หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เป็นบุตรของ นายกา ผิวขำ กับ นางมะแง้ ผิวขำ เมื่อกำเนิดมาบิดา-มารดาได้ตั้งชื่อว่า เด็กชายจาม ผิวขำ เกิดวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 ที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันคือ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร) ในปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ช่วงก่อนเสด็จสวรรคต (23 ตุลาคม 2453)

     เมื่อ เด็กชายจาม อายุได้ 6 ปี พ.ศ. 2459 พ่อแม่ได้พาไปกราบ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ใกล้บ้าน ที่ภูผากูด คำชะอี ต่อมา พ.ศ 2469 อายุได้ 16 ปี พ่อแม่พาไปถวายตัวกับหลวงปู่มั่น ที่ จังหวัดอุบลราชธานี นุ่งขาวห่มขาว เป็นเวลา 9 เดือน พ.ศ. 2470 อายุได้ 17 ปี บรรพชาเป็นสามเณร จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น 1 พรรษา ที่บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) ได้รับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน ได้แก่ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร หลวงปู่สิงห์ ขันยาคโม หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นสหธรรมิกเพื่อนสามเณร กับสามเณรสิม (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) อีกด้วย

     พ.ศ. 2472 อายุได้ 19 ปี สามเณรจาม ออกธุดงค์ไปยังขอนแก่น กับหลวงปู่อ่อน หลวงปู่กงมา และป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคเหน็บชา จึงจำเป็นต้องลาสิกขา กลับไปรักษาตัวที่บ้านห้วยทราย คำชะอี ครั้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บก็ใช้ชีวิตฆราวาส ทำไร่ ทำนา ค้าขาย ต่อมาจนถึงอายุ 28 ปี ครั้งเมื่อคราวที่นายจาม ผิวขำ มีอายุได้ 27 ปี พ่อกา (โยมพ่อ) บวชเป็นพระภิกษุ (ใช้ชีวิตอีก 6 ปี ก็มรณภาพในปี 2486) ส่วน แม่มะแง้ (โยมแม่) ก็ได้บวชชี (ใช้ชีวิตอีก 36 ปี จึงถึงแก่กรรม) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2480 นายจาม ผิวขำ ไปไหว้พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่ออธิษฐานขอบวชในพระพุทธศาสนา

    แต่เมื่อไปซื้อเครื่องบวชที่ร้านขายสังฆภัณฑ์ ในตลาดบ้านผือ นายจามได้พบนางสาวนาง ลูกสาวเจ้าของร้าน เกิดความรักใคร่ทันทีเมื่อแรกพบ แม่ชีมะแง้ (ผู้เป็นแม่) กับแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ จึงพานายจามไปบวชเป็นสามเณรไว้ก่อน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2481 ที่วัดป่าโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เพื่อหนีผู้หญิง แล้วจึงเดินเท้าต่อไปไหว้พระพุทธบาทบัวบก หอนางอุษา และมุ่งหน้าไป วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ปีต่อมา นายจาม อายุได้ 29 เต็มปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระเทพกวี (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2482 เมื่อบวชเสร็จพระจาม มหาปุญโญ ได้ออกธุดงค์องค์เดียวไปภาวนาที่พระบาทคอแก้ง บริเวณวัดพุทธบาท ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ขณะภาวนาเกิดนิมิตเห็นพญานาคขึ้นมาแล้วบอกว่า ที่นี่เป็นพระพุทธบาทจริง พวกตนได้ขอไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จ ผ่านมา

     ต่อมา พระจามได้ธุดงค์ไปภาวนาอยู่ ที่ถ้ำพระพุทธบาทบัวบก ตั้งใจปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวก จนได้รู้ว่า เจดีย์เก่าองค์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของ พระอาจารย์ หลวงปู่บุญ ปญฺญาวุโธ (พระอาจารย์ของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร) อัฐิได้กลายเป็นพระธาตุแล้ว ซึ่งพระจามไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ขณะภาวนาอยู่ได้เกิดแสงสว่างเป็นลำพุ่งลงมาจากท้องฟ้า สว่างเฉพาะบริเวณเจดีย์ พอรุ่งเช้าจึงไปค้นดู ปรากฏหลักฐานที่สลักไว้ที่ฐานเจดีย์จึงทราบความจริง จากนั้นพระจามจึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองน่อง บ้านห้วยทราย คำชะอี เป็นพรรษาที่ 1

     พ.ศ. 2483 พระจามอายุ 30 ปี เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเดินทางไปอยู่ที่ภูเก้า กับหลวงพ่อกา (โยมพ่อ) ระยะหนึ่ง จึงไปอยู่ภูจ้อก้อ ได้เดินทางต่อไปบ้านห้วยยาง อำเภอชุมแพ ไปบ้านกกเกลือ และถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ถ้ำผาบิ้ง ในคืนสุดท้าย เวลาใกล้รุ่งพระจามได้นั่งภาวนา จนเกิดจิตแจ้งสว่าง เห็นทุกทิศทางสว่างไสว จิตตั้งอยู่ในความสว่างประมาณ 20 นาที เหมือนจุดเทียนแล้วความสว่างก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสว่างรอบทิศ แล้วค่อยๆ ลดความสว่างลงไปๆจนดับมืด ขณะสว่างนั้น ได้ยินคนคุยกันซึ่งเป็นอาโลกกสิณ และในตอนท้ายของการภาวนานั้น ได้ทราบว่าถ้ำผาบิ้งแห่งนี้ เป็นสถานที่นิพพานของพระอุบาลีมหาเถระ ตั้งแต่ พ.ศ.4 หลังจากนั้นจึงได้ออกจากถ้ำผาบิ้ง มุ่งไปเพชรบูรณ์

     พ.ศ. 2485 อายุ 32 ปี พรรษาที่ 4 ได้พบกับอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันในสมัยที่เป็นสามเณร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่ขณะนั้นก็ต่างพรรษากัน เป็นระดับครูบาอาจารย์แล้ว ความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ยังเป็นเชื้อ ให้มีการถกแถลงด้านธรรมะกันอย่างออกรสในธรรม ในปีนั้น หลวงปู่จามได้เคยโต้วาทีกับบาทหลวงคริสต์ ที่บ้านพุงต้อม ตำบลยุวา อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงนั้น มีหญิงสาวหลายคนพยายามที่จะได้ตัวหลวงปู่จามไปเป็นสามี หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เทศนาภัย 4 อย่างของนักบวช ได้แก่ มาตุคาม, ทนคำสอนไม่ได้, ทนต่อปากท้อง ทนลำบากไม่ได้ และกามคุณ 5

     ในปี 2489 หลวงปู่จาม ไปพักที่วัดบ้านนาในกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ซึ่งหลวงปู่หลุย พาหลวงปู่จามเข้ากราบหลวงปู่มั่น แล้วกราบเรียนว่า “สามเณรจาม ตอนนี้บวชเป็นพระแล้วครับกระผม” หลวงปู่มั่นกล่าวว่า “บวชแล้ว เพราะท่านมีนิสัยนักบวช” หลวงปู่มั่นจึงให้โอวาทแก่หลวงปู่จามว่า “เมื่อก้าวมาสู่หนทางแห่งความดี ต้องเดินหน้าสู้ทน ตายเป็นว่า (ตายเป็นตาย) อยู่เป็นว่า (อยู่เป็นอยู่) เหตุเพราะทางอื่นนั้นปราศจากความร่มเย็น ไม่เป็นความสุข อันนี้ความดีจะเป็นผลของตน ผู้เดินอยู่ในทางนี้ได้ตลอดไปนั้น จิตใจก็อยู่ใกล้ธรรมอยู่กับธรรมะไม่ละทิ้งความดี ตนก็จะเป็นผู้ราบรื่น ร่มเย็น ผาสุกอยู่ได้ในปฏิปทาแห่งตน” เมื่อให้ธรรมะจบ หลวงปู่มั่นถามว่า “เข้าใจไหม จำไว้ให้ดี” หลวงปู่จาม ซาบซึ้งในคำสอนนี้ ด้วยความปีติสุขใจยิ่ง

     พ.ศ. 2494 อายุ 41 ปี (พรรษาที่ 13) หลวงปู่จามได้ธุดงค์ต่อไป ขณะที่ได้บำเพ็ญภาวนาบริเวณริมแม่น้ำกก ไม่ไกลจากเมืองเชียงรายมากนัก ได้ภาวนาแต่จิตไม่สงบ ก็ได้มีพญานาคโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำกกบอกว่า ”จิตสงบหรือไม่สงบไม่เกี่ยวกับพญานาค อยู่ที่จิตของท่านเอง” หลวงปู่จามถามว่า ”ถ้าไม่เกี่ยวแล้วขึ้นมาทำไป” พญานาคตอบว่า ”ได้ยินเสียงสนั่นหวั่นไหว เหมือนดินจะถล่ม มีอะไรเกิดขึ้นจึงโผล่ขึ้นมาดู ก็เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้านั่งสมาธิถาวนา จึงขออนุโมทนาแสดงความยินดีต่อการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านพระผู้เป็นเจ้าด้วย” หลวงปู่จามเล่าว่า เห็นภาพนาคปรากฏในสมาธิโผล่ขึ้นเหมือน้ำสูงประมาณ 3 เมตร ลำตัวใหญ่ประมาณเท่ากระบุงข้าว ตัวขนาดเท่าลำต้นตาล สีเลื่อมพราย มีหงอนแดง ต่อมาในภายหลังหลวงปู่ได้ภาวนา จึงได้ทราบต่อมาว่า พญานาคตนนี้ได้ปรารถนาจะเป็นพระอสีติมหาสาวก ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเบื้องหน้า

     พ.ศ. 2506 อายุ 54 ปี กลับเยี่ยมบ้านครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2506 เป็นปีแรก ที่หลวงปู่จามยินยอมเดินทางกลับมาที่บ้านห้วยทราย หลังจากไปอยู่ทางภาคเหนือกว่า 22 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484–2506) ขณะนั้นแม่ชีมะแง้ โยมแม่ของหลวงปู่จาม ซึ่งบวชเป็นแม่ชี และพำนักที่สำนักชีบ้านห้วยทราย ส่วนหลวงปู่จาม พำนักอยู่กับสามเณรอินทร์ (พระอาจารย์อินทร์ถวาย) ที่ป่าช้าบ้านห้วยทราย คำชะอี ในปี พ.ศ. 2506 เป็นปีแรกที่คณะญาติโยมบ้านห้วยทรายได้ไปรับ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ กลับจากวัดป่าบ้านตาด เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้ว หลวงปู่จาม ได้เดินทางกลับไปภาคเหนืออีกครั้ง และเปิดโอกาสให้คณะญาติไปเยี่ยมเยียนที่ภาคเหนือได้เป็นครั้งคราว และพร้อมจะเดินทางกลับมาโปรด หากคณะญาติมีความจำเป็น

     พ.ศ. 2512 อายุ 59 ปี พรรษาที่ 31 หลวงปู่จามเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด โดยไม่บอกให้ใครทราบล่วงหน้าก่อนเลย และได้อยู่พำนักที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี นับแต่นั้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน หลวงปู่จามเล่าว่า สถานที่ต่างๆ ที่ภาวนาเจริญก้าวหน้าทางจิตดีนั้น เพราะอดีตกาลเป็นสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าในอดีตได้มาตรัสรู้บ้าง ตั้งพระพุทธศาสนาบ้าง เสด็จดับขันธปรินิพพานบ้าง ถือว่าเป็นเขตมงคล แม้ต่อไปภายภาคหน้า ก็จะเป็นถิ่นมงคลสำหรับพระพุทธเจ้าในอนาคตอีกด้วย เช่น บริเวณวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอัครสาวก คือ พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร จำนวน 1 พรรษา ในถ้ำตับเต่า อำเภอฝาง และเคยเป็นที่นิพพานของพระกิมพิละเถระ หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาอยู่ที่นี่ 1 พรรษา

     ต่อมา หลวงปู่จาม ได้มีโอกาสฟังธรรมจาก หลวงปู่มั่น ในวาระสำคัญหลายครั้ง โดยที่หลวงปู่จาม ได้ อธิฐานจิตถามหลวงปู่มั่นล่วงหน้าไว้ทั้ง 4 ครั้ง ปรากฏว่าหลวงปู่มั่นทราบได้ด้วยญาณทัศนะ และเทศนาในเรื่องที่หลวงปู่จามต้องการทราบทุกครั้ง

     ครั้งที่ 1 หลวงปู่จาม มีความสงสัยว่า ”คนที่ได้ธรรมะเป็นอย่างไร ทำไมถึงได้ธรรมะปฏิบัติอย่างไร“ จึงอธิษฐานถามหลวงปู่มั่น คืนวันนั้น หลวงปู่มั่นยก “หิริ โอตฺตปฺป” ขึ้นมาเป็นหัวข้อแสดงพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ที่พักอย่าตามสถานที่ต่างๆ จะมารวมกันฟังธรรมเสมอ เมื่อหลวงปู่มั่น เทศนาจบลงก็หันหน้ามามองไปที่หลวงปู่จาม แล้วถามเป็นเชิงปรารภว่า “เป็นอย่างไรท่านจาม ผู้ได้ธรรมเป็นอย่างนี้ เข้าใจไหม” หลวงปู่จามตอบว่า ”เข้าใจครับกระผม” บรรดาพระสงฆ์ที่นั่งฟังก็หันมามอง หลวงปู่จาม ก้นทั้งหมด เมื่อหลวงปู่จามมกลับไปที่พัก ก็รีบนั่งภาวนาเพื่อทบทวนคำสอนของหลวงปู่มั่น เพื่อให้จำได้อย่างขึ้นใจ

     ครั้งที่ 2 หลวงปู่จาม อยากรู้เรื่อง ”พระธรรมวินัยว่า ธรรมอย่างหยาบ ธรรมอย่างกลาง ธรรมอย่างละเอียด เป็นอย่างไร” จึงได้กำหนดจิต อธิษฐานถามหลวงปู่มั่น และหลวงปู่จาม ก็คิดนึกในใจต่อไปว่า “อยากรู้ถึงปฏิปทาภพชาติของตนเองด้วย” ในคืนนั้นหลวงปู่มั่น ได้เทศนา โดยยกหัวข้อธรรมขึ้นว่า “หีนา ธมฺมา มชฺฌิมา ธมฺมา ปณีตา ธมฺมา” แล้วอธิบายธรรมและวินัยควบคู่กันไป ให้รู้เข้าใจกระจ่าง และได้แจกแจงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืนพอดี ต่อจากนั้นหลวงปู่มั่นก็เทศนาต่อไปว่า

   “ให้ตั้งใจเจริญพุทธคุณ ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า ถือด้วยใจ ปฏิบัติด้วยใจ เจริญพุทธเนตฺติ ด้วยการประพฤติเพื่อความหนักแน่นในธรรม ผู้ถึงพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจ เท่านั้นที่เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัยอยู่ได้…”

      ครั้งที่ 3 หลวงปู่จาม อยากรู้เรื่อง “พระอภิธรรม” จึงอธิษฐานจิตถามไว้ พอตอนกลางคืน หลวงปู่มั่นก็เทศนาเริ่มต้นที่ “มูลกัจจายนะ” ตรงตามที่หลวงปู่จาม ตั้งอธิษฐานไว้

   ครั้งที่ 4 หลวงปู่จาม เกิดข้อสงสัยว่า “เราเองก็ทำความเพียรอย่างจริงจังมาก แต่ไม่ค่อยได้ผลดีตามที่ปรารถนา พระองค์อื่นก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับเรา เราเองก็คงมีอีกไม่น้อย” จึงอธิษฐานจิตถามไว้ล่วงหน้า เมื่อหลวงปู่มั่น ได้เทศนากัณฑ์แรกจบไป ก็เทศนาเตือนสติในตอนท้ายว่า “เอาจริงเอาจังเกินไป หรือขวนขวายพยายามพากเพียรมากไป แต่ขาดปัญญา ก็เป็นเหตุให้ใจดิ้นรนอยากได้ อยากเป็น อยากเห็น อยากสำเร็จ อยากบรรลุธรรม โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความอยากของตนจึงเป็นอุปสรรคของตน จึงให้ดูใจดูตนของตนด้วยสติปัญญา“ เมื่อเทศน์จบหลวงปู่มั่นก็หันหน้ามาทางหลวงปู่จาม แล้วถามว่า “เป็นอย่างไรท่านจาม ความโลภเป็นอย่างนี้ เข้าใจไหม” หลวงปู่จาม ตอบอย่างเคารพและเกรงกลัวเป็นที่สุดว่า “เข้าใจซาบซึ้งเป็นที่สุดครับกระผม”

     หลวงปู่จามเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทั้งศีลของพระสงฆ์ 227 ข้อ และศีลอภิสมาจาร 3,500 ข้อ ท่านอยู่อย่างสมถะ ไม่เคยขอเงินบริจาค ไม่มีการจำหน่ายวัตถุมงคล ในวัดป่าวิเวกวัฒนารามไม่มีตู้รับบริจาค ท่านตั้งใจปฏิบัติอย่างหนักแน่นในธรรม แม้ระยะหลังสุขภาพไม่ดี ท่านยังออกบิณฑบาตทุกเช้า ไม่เบื่อหน่ายในความเพียร ท่านเทศนาสั่งสอนผู้ไปกราบไหว้ด้วยใบหน้ายิ้มละไมเสมอว่า

     “คนเรา เมื่อประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม อยู่ในความไม่ประมาท หมั่นบำเพ็ญบุญ สวดมนต์ไหว้พระทุกวัน แล้วก็ไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหนชีวิตก็เป็นสุข “

     เมื่อชาวบ้านห้วยทราย หรือคนในอำเภอคำชะอีไปกราบท่าน ก็ได้รับคำสอนเป็นภาษาพื้นเมืองหรือภาษาภูไท เช่น

     “…อันเลอเจ๋อ มันฮับมิไหว มันต้านทานมิได๊ กะวางเฉยเสียเน้อ…”

     หลวงปู่จาม มหาปุญโญ มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ตำบลคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร สิริอายุรวม 104 ปี พรรษา 75

 

cr. www.isangate.com

 

  • วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม) 

ศาสนาพุทธ

พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม ประเทศเกาหลีใต้

พุทธศาสนา

พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม ประเทศเกาหลีใต้

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: बुद्धशासना พุทฺธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพระสงฆ์ (ภิกษุ ภิกษุณี) สาวกผู้ตัดสินใจออกบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอน ธรรม-วินัย ของพระบรมศาสดา เพื่อบรรลุสู่จุดหมายคือพระนิพพาน และสร้างสังฆะ เป็นชุมชนเพื่อสืบทอดคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย นอกจากนี้ในพระพุทธศาสนา ยังประกอบคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ – อุบาสก และอุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่ที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วจะจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่า พุทธบริษัท 4

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเอง ด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย คือ ให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกอง ทุกข์[3] มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนาคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด

พระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไป ว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ มหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง บ้างก็จัดว่า วัชรยาน เป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่การจัดมากกว่านั้นก็มี หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ

ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธ ได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านคน ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล

  • วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม) 

อริยสัจ 4

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม)
วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม)

อริยสัจ 4

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ

  1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
  2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
  3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
  4. มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการ คือ                                                                                                                                     1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ                                                6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ  และ  8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง

มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ         3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ


กิจในอริยสัจ 4

กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่

  1. ปริญญา – ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
  2. ปหานะ – สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
  3. สัจฉิกิริยา – นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
  4. ภาวนา – มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมาย

กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ

กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ)
ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ
ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12
ดังนี้

  1. สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
    1. นี่คือทุกข์
    2. นี่คือเหตุแห่งทุกข์
    3. นี่คือความดับทุกข์
    4. นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
  2. กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
    1. ทุกข์ควรรู้
    2. เหตุแห่งทุกข์ควรละ
    3. ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
    4. ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
  3. กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
    1. ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
    2. เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
    3. ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
    4. ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว